ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก อ.ศุภเดช พิธีกรรายการ แบไต๋ไฮเทค
Jailbreak (เจลเบรค) คำนี้อาจจะคุ้นหูกับผู้ใช้งาน iDevice ของแอปเปิลและถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการสมาร์ทโฟน แต่ยังมีผู้ใช้งาน iDevice ของแอปเปิลอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังเข้าใจเรื่องการ Jailbreak แบบผิด ๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วการ Jailbreak คือการลงแอพฯ เถื่อนอย่างเดียวจริงหรือ ? วันนี้เรามาหาคำตอบและทำความรู้จักเรื่อง Jailbreak กับบทความดี ๆ จาก อ.ศุภเดช พิธีกรรายการ แบไต๋ไฮเทค ที่จะมาบอกเล่าเรื่องการ Jailbreak ให้เราได้รู้กัน มาติดตามกันเลย
Jailbreak ที่คนไทยเข้าใจคืออะไร
ผมอยากจะเขียนตอนนี้มานานแล้ว เพราะว่าปัจจุบัน คนไทยเราเข้าใจคำว่า Jailbreak ที่ใช้กันใน iPhone แบบผิด ๆ กันมาโดยตลอด และวันนี้รู้สึกว่าต่อมหงุดหงิดเริ่มทำงานจนทนไม่ไหว ขอจัดเต็มซักตอน เพื่อที่จะให้หลาย ๆ คนได้หายสงสัยกัน
ผมค่อนข้างมั่นใจว่า หลาย ๆ คนเข้าใจการ Jailbreak ว่า มันคือ การที่ทำยังไงก็ได้แหละ แต่ให้อุปกรณ์ iOS ของเรา เช่น iPod Touch, iPhone, iPad สามารถลง App เถื่อนได้โดยที่ไม่เสียเงิน ซึ่งอยากจะบอกว่า คุณกำลังเข้าใจการ Jailbreak ผิดไปคนละทางเลยนะครับ
ก่อนจะเล่าถึงความจริงว่า Jailbreak คืออะไร ผมขอเล่าย้อนกลับไปถึงสมัยก่อนโน้น ในตอนที่ iPhone ตัวแรกออกก่อนนะครับ
iPhone ตัวแรกของ Apple
ในตอนนั้น Apple ได้ออกแบบ iPhone มาเพื่อให้ผู้ใช้ทั่ว ๆ ไปใช้งาน ภายใต้สิ่งที่ Apple อนุญาตเท่านั้น คุณจะสังเกตได้เลยว่าตั้งแต่ iPhone ตัวแรก… มันขาดความสามารถหลายอย่างมาก เช่น Copy/ Paste ข้อความไม่ได้, ขาดระบบ Multitasking หรืออื่น ๆ อีกมากมาย รวมไปถึง iPhone2G ตัวแรกนั้น ขาด Keyboard ภาษาต่างประเทศเยอะมาก และที่สำคัญที่สุดเลย คือมีการล็อคตัว Sim Card เอาไว้เพื่อให้ใช้ได้กับค่าย AT&T เท่านั้น ซึ่งอันนี้ก็ต้องยอมรับสภาพ เพราะที่อเมริกาขายกันแบบผูกสัญญาห้ามไปใส่ SIM ค่ายอื่นกันอยู่แล้ว
นั่นหมายถึง Apple ได้มีการขีดเส้นแบ่งเอาไว้ ว่าผู้ใช้ที่เป็นเจ้าของเครื่องที่เสียเงินซื้อมา มีสิทธิ์ใช้ได้เพียงไม่เกินเส้นที่ Apple กำหนดเอาไว้ นั่นก็คือ icon ทั้งหมดที่อยู่บนหน้าจอเท่านั้น
Jay Freeman
ซึ่งในช่วงประมาณปี 2008 ก็ได้มี Developer คนหนึ่งใช้ชื่อในวงการ Hacker ว่า Jay Freeman ที่มีชื่อเรียกในวงการว่า Saurik เค้าก็ได้เริ่มเจาะระบบของตัว iOS 1.1 แล้วทำการฝัง สิ่งที่น่าจะเรียกว่า ตัวติดตั้งโปรแกรมผ่านทาง icon หรือ ที่เราเรียกกันว่า AppStore กันในตอนนี้ ซึ่งตอนนั้นมันมีชื่อเรียกว่า Installer.app ซึ่งการมาของตัว Installer สามารถทำให้เราสามารถทำอะไรนอกเหนือเส้นที่ Apple ขีดเอาไว้ได้ เช่น สามารถติดตั้ง Keyboard ภาษาอื่น ๆ รวมไปถึงตอนนั้นก็มี Keyboard ภาษาไทยออกมาด้วย จุดประสงค์สำคัญของ Installer ก็คือ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งตัว iPhone ของแต่ละคนได้ตามใจ รวมไปถึงย้ายไปใส่ SIM ของค่ายอื่นได้อีกด้วย ที่ตอนนั้น iPhone รุ่นแรกขายในบ้านเราได้ ก็เพราะทุกเครื่องมัน Jailbreak กันหมดนี่แหละ
โฉมหน้าของ Installer.app
Installer.app เป็นจุดกำเนิดของอีกหลาย ๆ ไอเดีย ซึ่งผมขอสารภาพตามตรงนะ ผมไม่รู้ว่า ไอเดียเรื่อง AppStore ของ Apple เป็นไอเดียที่คิดมาก่อนหน้า หรือเป็นไอเดียที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Installer.app แต่เอาเป็นว่า ตอนนั้นก็มี Hacker หลาย ๆ คนที่เริ่มสนใจการเจาะระบบ iPhone และพยายามฝังตัว “ติดตั้งโปรแกรม” ของตัวเองเข้าไป ซึ่งในตอนที่ iOS 2 ออก… ทาง Jay Freeman ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Cydia และเข้าซื้อตัวโปรแกรม Rock Your Phone ซึ่งเป็นระบบ Installer อีกตัวนึง ทำให้ Cydia กลายเป็น ระบบ Third-Party App ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด (ช่วงปี 2009 มีผู้ใช้งาน Cydia ถึง 4 ล้านคน) ส่วนตอนนี้น่าจะมีเกิน 50 ล้านคน
icon ของโปรแกรม Cydia ที่น่าจะคุ้นตากันดี
หน้าที่ของ Cydia คือ เป็นตัวจัดการ การลง App ที่อยู่นอกเหนือความสามารถที่ทาง Apple จะอนุญาตให้ผู้ใช้งานทำได้ ซึ่งถ้าคุณได้เข้าไปเล่น App ใน Cydia คุณจะเจอ App บ้า ๆ เยอะมาก รวมไปถึง App ที่เราอยากจะได้มาก แต่ไม่มีใน AppStore เช่น
- iBlacklist : โปรแกรม Block ไม่ให้เบอร์บางเบอร์โทรหาเรา
- QuickDo : Shortcut เรียกโปรแกรมอื่น ๆ จากหน้า LockScreen
- Barrel : โปรแกรมแก้ไข Effect ในการเลื่อนหน้าจอ
- Facebreak : โปรแกรมที่ทำให้เราทำ Facetime ผ่านระบบ 3G ได้
- My3G : โปรแกรมที่เอาไว้หลอก App ในเครื่องว่า Connection ในเครื่องเป็น Wifi ไม่ใช่ 3G
- Airblue : โปรแกรมส่งไฟล์ทาง Bluetooth
- Winterboard : โปรแกรมแก้ Theme ของตัว iOS
- BytaFont : โปรแกรมเปลี่ยน Font ในการแสดงผลของหน้าจอ
- ThaiKeyboard : โปรแกรมคีย์บอร์ดภาษาไทยแบบ 4 แถว ที่ตรงตาม Keyboard ที่คนไทยเราใช้กัน
Cydia ให้โหลด App เหล่านี้ ฟรี และถ้าเกิด Developer คนเขียนอยากจะขายก็สามารถทำได้ด้วย ซึ่งจะมีระบบ Username ที่ผูกกับ Facebook และ Google Account เพื่อบันทึกว่า User แต่ละคนซื้อ App อะไรไป ตรงนี้จะเหมือนกับ AppStore เกือบจะทุกประการเลยครับ
นั่นหมายถึง Cydia คือ AppStore ที่ขาย App ที่อยู่นอกเหนือความสามารถที่ Apple จะทำได้โดย Developer เหมือนกัน และอยากจะบอกว่าราคาแพงกว่าใน AppStore ซะอีกนะครับ สำหรับ App บางตัว ส่วนใหญ่ขายกัน 2.99$ ไปจนถึง 4.99$ เป็นหลัก ไม่เหมือน AppStore ที่ขายกันที่ 0.99$ มากกว่า
ส่วน Jailbreak คืออะไร??
มันคือขั้นตอนการแฮกตัว iOS เพื่อให้สามารถยัดตัวโปรแกรม Cydia เข้าไปได้ รวมไปถึงการได้มาซึ่ง root user เพื่อชิงเอาสิทธิ์ในการรัน App ต่าง ๆ ในเครื่องเรานั่นเองครับ นั่้นคือการ Jailbreak… ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับการลง App ฟรี ๆ จาก AppStore ได้โดยที่ไม่เสียเงินทั้งสิ้น
แล้วการลง App เถื่อน ๆ เหล่านี้มาได้ยังไง
เนื่องจาก Cydia เป็นระบบบริหารเรื่องการโหลดและขาย App แบบอิสระใช่ไหมครับ ซึ่งด้วยความที่มันเป็นระบบเปิด เค้าก็เลยอนุญาตให้เราติดตั้งตัว Souce หรือแหล่งในการโหลด App จากที่อื่นด้วย ซึ่งถ้าคุณลงแค่ Cydia แล้วไม่ติดตั้ง Source เพิ่มเลย รับรองได้ คุณจะมีแต่ App ของ Cydia ที่ขายและไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย แต่มันก็มีพวก Hacker ที่จ้องจะเอา App ที่โหลดจาก AppStore มาถอด DRM ออก แล้วเอาไปตั้งเป็น Market อีกแบบเพื่อขาย ผ่าน App ตัวอื่น เช่น Installous… เจ้านี่แหละ เป็น AppStore ที่สามารถโหลด App เถื่อนได้ครับ ซึ่งการที่คุณจะติดตั้่ง Installous ได้ คุณจะต้อง “จงใจ” ที่จะเพิ่ม Source เถื่อนลงไปในเครื่องนะ
ตอนนี้ผู้ใช้งานในประเทศไทย มีความเข้าใจเรื่องนี้หลายแบบด้วยกัน ผมขอแบ่งเป็นแต่ละกลุ่มดังนี้ครับ
- คนที่ไม่ Jailbreak เพราะกลัวเครื่องพัง แต่ไม่เข้าใจเรื่องระบบ การซื้อ App ของ Apple AppStore เลยไปลง App ตามตู้ขายมือถือ
กลุ่มคนเหล่านี้ มีเงินนะครับ เพราะการลง App ตามตู้มือถือมันราคาไม่ถูกนะครับ ครั้งนึง 300 – 500 บาท แค่ทำไม่เป็นและกลัวความยุ่งยากเท่านั้น หากคุณคิดว่า อยากจะทำอะไร ๆ ให้มันถูกต้อง ไปอ่านบทความ เรื่องการสร้าง Apple ID เป็นของตัวเอง นะครับ คุณจะได้ประหยัดเงินด้วยการโหลด App แท้ ๆ เป็นของตัวคุณเอง
- คนที่ Jailbreak เพราะคิดแค่ว่าว่าลง App เถื่อนได้ ไม่อยากเสียเงิน
คนกลุ่มนี้ ไม่เกี่ยวกับมีเงิน หรือไม่มีเงิน แค่ชอบเอาชนะระบบเท่านั้น เพราะถ้า Jailbreak เองและไปเพิ่ม Source เถื่อนเองได้ การจะสร้าง Apple ID เพื่อซื้อ App ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขาเลย ดังนั้น คนกลุ่มนี้ ถึงเราจะไปอธิบายเรื่องลิขสิทธิ์ให้พวกนี้ฟังก็เปล่าประโยชน์ เปลืองน้ำลายเปล่า ๆ ครับ
- คนชอบ Jailbreak เพราะอยากได้ Keyboard ไทยสี่แถว .. อยากปรับแต่งเครื่อง ซื้อ App แท้บ้าง โหลดเถื่อนบ้างปน ๆ กันไป
กลุ่มนี้ ก็เป็นกลุ่มที่ Jailbreak ด้วยความต้องการหลักคือ อยากได้ Keyboard ไทยสี่แถว เพราะ Keyboard ภาษาไทยที่ Apple ให้มา ใช้แล้วมันเวียนหัวชวนเมาเรือเหลือเกิน พิมพ์ ๆ ลบ ๆ ผิด ๆ ถูก ๆ แต่ถ้าเกิดคุณสามารถจ่ายเงินซื้อ Keyboard ไทยได้ พวกคุณก็มีปัญญาซื้อ App แท้ทุกคนอย่างแน่นอน คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มกลาง ๆ ที่เข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์และอยากสนับสนุนนักพัฒนาระดับนึง บางทีเจอ App ที่อยากได้ก็ไปลองโหลดเถื่อนมาก่อน ถ้าถูกใจก็จะซื้อของแท้ หรือ เถื่อนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีอารมณ์ซื้อของแท้
- คนกลุ่มที่ Jailbreak เพราะอยากศึกษาแต่สนับสนุนนักพัฒนาด้วย
คนกลุ่มนี้ ซื้อ App แท้ทุกตัว ทั้งใน AppStore และใน Cydia… เป็นกลุ่มที่มีคนน้อยที่สุด แต่กลับเป็นกลุ่มที่จ่ายเงินให้นักพัฒนาผ่านระบบ AppStore เยอะสุดเหมือนกัน
- กลุ่มที่เข้าใจดี เรื่อง Cydia และ AppStore แต่เลือกที่จะไม่ Jailbreak แต่ใช้วิถีชีวิตไปตามที่ Apple กำหนด
กลุ่มนี้ ผมเจอหลายคน ถ้าให้อธิบายแบบเข้าใจง่ายสุด ก็คือ กลุ่มคนที่ชื่นชอบในตัว Steve Jobs และ Product ของ Apple… เรียกแบบไม่สุภาพหน่อยก็คือ กลุ่มสาวก น่ะแหละครับ กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่จ่ายเงินให้นักพัฒนาอย่างเยอะมากเหมือนกัน แต่ก็จ่ายผ่านตัว AppStore อย่างเดียว เพราะไม่จำเป็นต้องไปจ่ายให้ทาง Cydia เลย เพราะไม่ได้ใช้ครับ
สรุปคร่าว ๆ
- Jailbreak ไม่ใช่การลง App เถื่อน .. เป็นการเจาะระบบเพื่อติดตั้งระบบ Third-Party AppStore เท่านั้น
- Cydia ก็ไม่ใช่การลง App เถื่อน เป็นแค่ช่องทางในการโหลด App ที่นอกเหนือจากที่ Apple ให้ลงได้เท่านั้น
- คนที่มี Cydia ไม่ได้แปลว่า ละเมิดลิขสิทธ์ พอ ๆ กับ คนที่ไม่ได้ Jailbreak ก็ไม่ได้แปลว่าจะถูกต้อง (ลง App ตามตู้)
- บทความนี้ไม่ได้ฟังธงว่าใครถูกหรือผิด .. แค่เล่าสถานการณ์ปัจจุบันให้ฟังเท่านั้น
- ถูกใจ ก็ฝากแชร์ต่อไปด้วยละกันครับ เขียนมาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดกันเท่านั้น
ปล. การใช้ Source เถื่อนเพื่อลง App เถื่อน มีความเสียงที่จะถูกขโมยข้อมูลผ่าน App เหล่านั้นนะครับ เพราะ Hacker ไม่เคยทำอะไรให้ใครฟรี ๆ อยู่แล้ว